รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ระบุถึงหน้าที่ของปวงชนชาวไทยในการป้องกันประเทศ ซึ่งสามารถแยกออกได้ 7 ประการ ดังนี้
1. การป้องกันประเทศ เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน
2. การรับราชการทหาร พระราชบัญญัติการตรวจเลือก พ.ศ.2497 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของชายไทยทุกคนต้องไปรับการตรวจเลือก หรือที่เรียกว่า เกณฑ์ทหาร เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ แต่ผู้อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนสามารถผ่อนผันได้ โดยผู้ที่ขอผ่อนผันต้องไปรายงานตัวทุกปีเมื่อมีการเกณฑ์ทหาร จนกว่าจะสำเร็จการศึกษา และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็ต้องไปเข้ารับการ คัดเลือกตามที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ไปเข้ารับการตรวจเลือก หรือหนีทหาร จะได้รับโทษทางอาญาสถานเดียว คือ จำคุก ตั้งแต่ 1 เดือน ถึง 3 ปี
3. การเสียภาษีอากร ภาษีที่รัฐกำหนดมีหลายประเภท ดังนี้
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีที่รัฐเก็บจากประชาชนทุกคนที่มีรายได้
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีที่รัฐเก็บจากบริษัท ห้างร้านที่เป็นนิติบุคคล องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ กิจการร่วมค้า มูลนิธิและสมาคม
- ภาษีการค้า เป็นภาษีที่รัฐเก็บจากผู้ประกอบการค้า หรือผู้ที่ถือว่าประกอบการค้าตามอัตราที่กำหนดไว้ ภาษีผู้ประกอบการค้าสามารถผลักภาระให้ผู้บริโภครับภาระภาษีนี้ได้ โดยรวมไว้ในราคาสินค้า เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- ค่าอากรแสตมป์ เป็นการเก็บภาษีชนิดหนึ่ง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีการปิดอากรแสตมป์บนตราสินค้าบางอย่าง โดยเอามูลค่าของตราสารเป็นตัวตั้งในการคำนวณค่าอากรประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้นี้ ได้กำหนดถึงองค์ประกอบ เงื่อนไข วิธีการชำระภาษีและปิดอากรแสตมป์ไว้อย่างละเอียดซึ่งประชาชนผู้มีเงินได้อยู่ในลักษณะใดต้องเสียภาษีตามลักษณะนั้น และต้องชำระให้ตรงตามกำหนดเวลาที่กรมสรรพากรกำหนด มิฉะนั้นจะเสียค่าปรับ ฉะนั้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนตนหรือคณะบุคคล จึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนต้องศึกษาประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้ให้ละเอียดและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด การหลีกเลี่ยงการเสียภาษีรายได้ประจำปี หรือปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วน ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญานอกจากนี้ยังจัดเก็บภาษีอื่น ๆ อีก เช่น ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน และภาษีป้าย เป็นต้น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องเสียภาษีอากรตามที่ตนเกี่ยวข้องด้วยความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือรัฐ ซึ่งเงินรายได้จากการจัดเก็บภาษีรัฐได้นำกลับมาพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ และจัดบริการขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน เช่น การประกันสุขภาพ การประกันรายได้ขั้นต่ำ และการประกันความมั่นคงในวัยชรา เป็นต้น
4. การช่วยเหลือราชการ หน้าที่ในการช่วยเหลือราชการของประชาชนชาวไทยมิได้ถูกกำหนดไว้โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญ อยู่ในกฎหมายอาญา เช่น กรณีเกดภัยพิบัติต่าง ๆ บุคคลมีหน้าที่ช่วยเหลือราชการเมื่อได้รับการร้องขอ เราต้องถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องช่วยเหลืออย่างเต็มที่ในฐานะพลเมืองที่ดี
5. การศึกษาอบรม รัฐได้กำหนดให้คนไทยทุกคนมีหน้าที่รับการศึกษาอบรม โดยเน้นให้รัฐและเอกชนจัดการศึกษาให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม สิ่งที่สำคัญมากคือ การขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็น 12 ปี ซึ่งรัฐต้องจัดให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ ให้ความสำคัญแก่เด็กและเยาวชนที่ไม่มีผู้ดูแล โดยรัฐให้มีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ยังให้บุคคลมีเสรีภาพทางวิชาการและให้เกิดองค์กรอิสระ เพื่อจัดคลื่นความถี่เพื่อใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคม เพื่อใช้ในการศึกษาอีกด้วย
6. การพิทักษ์ปกป้องและสืบสานศิลปะ วัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น ชาติไทยเป็นชาติที่มีศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่มานาน ศิลปะและวัฒนธรรมช่วยให้ประเทศมีความเป็นเอกลักษณ์ที่งดงาม ศิลปะสาขาต่าง ๆ เช่น จิตรกรรม ปฏิมากรรม และภาพพิมพ์ตามวัดวาอาราม สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การเอกชนที่บ่งบอกถึงความเป็นไทย เช่น ภาพปราสาท เรือนโบราณ โบสถ์ วิหาร รูปปั้น รูปหล่อต่าง ๆ ภาพวรรณกรรมตามฝาผนังและเพดานของวัด ตลอดจนสถานที่สำคัญต่างๆ ล้วนมีคุณค่าที่คนไทยจะต้องหวงแหน รักษาและถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ เพื่อช่วยกันเชิดชูความเป็นไทยให้ยั่งยืน ด้านวัฒนธรรม ชาติไทยมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นและบ่งบอกถึงความเป็นไทย เช่น วัฒนธรรมในความเป็นชาติที่มีเอกภาพในการนับถือศาสนา และการยกย่องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ วัฒนธรรมในวิถีชีวิตของคนไทย เช่น การไว้ การกราบ การแต่งกายแบบไทย การทำบุญ ตักบาตร และการประเคนของพระ เป็นต้น ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น คนไทยต้องรักษา ปกป้อง และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย เช่น การทอผ้าด้วยหูก และกี่กระตุก การย้อมผ้าด้วยเปลือกไม้ การทำหนังตะลุง หนังใหญ่ การจักสานต่าง ๆ และการปรุงยาจากพืชสมุนไพร เป็นต้น
หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของคนไทย คือ การปลุกจิตสำนึกให้รู้จักปกป้องไม่ให้ผู้ใดมาทำลาย หรือลบหลู่ดูหมิ่นศิลปะ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการผดุงรักษา ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงต้องเริ่มด้วยการปลุกจิตสำนึกคนไทยให้ตื่นตัว หันกลับมารักษา
ส่งเสริมและสร้างสรรค์สิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นชาติไทยอย่างจริงจัง เพื่อให้ชาติไทยแข็งแกร่งสืบไป
7. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทุกคนต้องตระหนักในความสำคัญและคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐได้ตรากฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ เพื่อปกป้องคุ้มครองและควบคุมไม่ให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลายจนสูญสลายหรือแปรสภาพไป การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือและเอาใจใส่ไม่ให้ผู้ใดมาทำลายสิ่งแวดล้อม อันจะมีผลกระทบต่อคน สัตว์ พืช และสภาพแวดล้อมต่างๆ นอกจากนี้กฎหมายผังเมืองได้ช่วยเสริมกฎหมายรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพราะเกี่ยวข้องกับการใช้ที่ดินให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ถูกสุขลักษณะและมีความปลอดภัยสำหรับประชาชน ซึ่งนอกจากจะให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว ยังคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมที่จะกระทบต่อชีวิตของประชาชนด้วย เมื่อรัฐตรากฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้นมาแล้ว เป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทยทุกคนต้องร่วมกันดูแล รักษาและป้องกัน ไม่ให้ป่าไม้ แร่ธาตุ น้ำมัน ภูเขา แม่น้ำ ลำคลองและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ช่วยกันรักษาให้คงอยู่และพัฒนาและยั่งยืนสืบไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น